พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก (New Species)

พิพิธภัณฑ์พืช ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ และหน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์พืช ศ.กสิน สุวตะพันธุ์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพิพิธภัณฑ์พืชที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศไทย ได้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2525 ตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์พืชเป็นอนุสรณ์แด่
ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของภาควิชาและเป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่องานทางอนุกรมวิธานพืชตลอดชีวิตของท่าน

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พืช ศ.กสิน สุวตะพันธุ์ มีชื่ออยู่ในดรรชนีพิพิธภัณฑ์พืชของโลก ซึ่งปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์รวมทั้งสิ้น 3,990 แห่ง โดยมีชื่อรหัสที่ใช้เป็นสากลว่า “BCU” รหัสนี้สำหรับใช้ในการอ้างอิงเมื่อมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่มีการใช้ตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์พืช ปัจจุบันมีนิสิต นักศึกษา และนักวิจัยทั้งที่เป็นชาวไทย และชาวต่างประเทศมาใช้บริการตรวจหาชื่อพันธุ์ไม้ ทำตัวอย่างอ้างอิงและขอข้อมูลพันธุ์ไม้อย่างต่อเนื่อง

BCU

พิพิธภัณฑ์พืชอาจเปรียบเทียบได้กับหอสมุดพรรณไม้ เนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลต่างๆ ของพืช และส่วนสำคัญที่สุดคือ เป็นที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุ์ไม้รักษาสภาพ ซึ่งส่วนมากจะเป็นตัวอย่างแห้งที่จัดเป็นหมวดหมู่อย่างมีระบบ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างในสภาพอื่นๆ เช่น
ตัวอย่างดอง ตัวอย่างเรณูและสปอร์ ภาพถ่าย ภาพวาด สไลด์สีโปร่งแสง รายงานหรือข้อเขียน หนังสือ
ตำราเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ทั้งทางด้านอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยา ธรรมชาติวิทยา พฤกษศาสตร์เศรษฐกิจ เภสัชศาสตร์ เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์พืช

ภาระกิจหลักของพิพิธภัณฑ์พืชฯ

คือเก็บรวบรวมตัวอย่างพืชเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับพืชของประเทศไทย และสนับสนุนการเรียนการสอน รวมทั้งการวิจัยของนิสิตและคณาจารย์ในภาควิชา ตลอดจนนักวิจัยจากหน่วยงานอื่น โดยมีคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตของหน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทยเป็นผู้สำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณไม้

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พืชฯ มีตัวอย่างพืชกว่า 26,000 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างพืชกลุ่มไม้ดอกประมาณ 16,000 ตัวอย่าง เฟินและพืชกลุ่มพืชใกล้เคียงประมาณ 5,000 ตัวอย่าง ไบรโอไฟท์ 1,000 ตัวอย่าง ไลเคนส์ 550 ตัวอย่าง และสาหร่าย 600 ตัวอย่าง และยังมีตัวอย่างพืชที่กำลังดำเนินการจัดเตรียมเพื่อนำเข้าเก็บในพิพิธภัณฑ์พืชฯ อีกประมาณ 3,000 ตัวอย่าง

จากการออกสำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณไม้ภาคสนามของคณาจารย์ บุคลากร
และนิสิตในหน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในพื้นที่ต่าง ๆ ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศไทย ทำให้สามารถเก็บรวบรวมตัวอย่างพืชอันทรงคุณค่าไว้มากมาย บางชนิดเป็นพืชหากและใกล้สูญพันธุ์ หลายชนิดเป็นพืชที่เพิ่งพบครั้งแรกของประเทศไทย (New Record) และในจำนวนนี้มีหลายชนิดเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก (New Species) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่มีประโยชน์ในงานอนุกรมวิธานพืช
และเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย
ดังนั้นการจัดทำเว็บไซต์ฐานข้อมูลพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกที่สำรวจพบโดยคณาจารย์และบุคลากรของภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีงานวิจัยทางด้านความหลากหลายของพืชอย่างเข้มแข็ง